หยุดเวลาไว้.. ที่ลมหายใจ
บางครั้งเราคงอยากรู้สึกอยู่เงียบ หลุดจากทุกความรู้สึก มีชีวิตและจิต อยู่ในภวังค์ที่ตัวเองกำหนดได้นะครับ การดำน้ำเป็นวิธีการหนึ่งในการการสร้างที่กระบวนการที่ทำให้เราสามารถควบคุมกระแสการขึ้นลงร่างกาย ให้เป็นอณูเดียวกันกับกระแสของน้ำ เทียบได้กับการควบคุมกระแสของของจิต แล้วเอานำตัวเองให้พ้นไปจากกระแสชีวิตอันสับสนอื่นที่คอยรบกวนเรายามมีชีวิตเหนือน้ำครับ
hovering
การดำน้ำที่มีการควบคุมภาวะของสติและร่างกายผ่านการจมลอยที่ดี นอกจากจะทำให้จิตใจสงบและมีสมดุลแล้ว ยังเป็นวิธีที่สามารถใช้รับมือกับความตึงเครียดทางกาย และทางอารมณ์ได้เป็นอย่างดีครับ ถ้าเราเอาชนะความกังวล ความกลัว ปล่อยใจให้ลอยไปกับสายน้ำ ความเงียบ ความไม่รู้ต่างๆได้ จิตซึ่งใช้พลังมากที่สุดจากร่างกายก็สามารถลดความเหนือยล้าของตัวมันเองลง และเมื่อจิตใจสงบแล้ว จิตก็จะใช้พลังน้อยลง ทำให้ร่างกายได้พัก พลังงานที่เหลือจะถูกส่งไปยังส่วนต่างๆของร่างกายที่กำลังเหนื่อยล้าและอ่อนแอกว่า ดังนั้นการทำสมาธิใต้น้ำผ่านการกำหนดลมหายใจเข้าออกใต้น้ำ จึงเป็นวิธีหนึ่งของการควบคุมตัวเองให้ผ่อนคลาย ดำได้ได้อย่างสนุกสนาน แถมลดความเครียดอีกต่างหากครับ
การฝึกสมาธิใต้น้ำ (underwater meditation) ผ่านการดำน้ำที่ดีสามารถช่วยให้เรามีความรู้สึกตัวอยู่กับปัจจุบัน หรือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าเวลาที่เราอยู่ใต้น้ำ ไม่ว่าจะเป็น ความมืด ความเย็น โสตสัมผัสทุกส่วน ที่รวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับน้ำ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เรามีชีวิตชีวาอย่างเต็มที่ในการดำน้ำ การที่จิตใจเราสงบ จะทำให้เราไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไร้สติต่อเหตการณ์ต่างๆที่เข้ามาระหว่างการดำน้ำ สามารถทำให้เรามีสติปัญญาสามารถกำหนดวิธีการดำน้ำที่ดี แถมยังส่งผลต่อการชีวิตหลังการดำน้ำที่มีสมาธิปลูกปัญญามากขึ้นอีกด้วยนะครับ
เวลาเราอยู่ใต้น้ำ นักดำน้ำที่มีประสบการณ์จะเลือกฟังเสียงของจิตตัวเอง ไปพร้อมกับเสียงหัวใจ และการควบคุมร่างกายครับ สิ่งเหล่านี้จริงๆแล้วทำได้ไม่ยากเลยแม้แต่กับนักดำน้ำมือใหม่ แค่เราเริ่มจากการลอยตัวนิ่งๆ หรือจับเชือกไว้ แล้วคอยสังเกตว่ามีอะไรที่เรารู้สึกผิดแผกไปจากสภาวะแวดล้อมบนบกเมื่อเราดำน้ำบ้าง จากนั้นลองเลือกจากจะแกล้งลืม มองข้ามความกลัวความกังวลเหล่านั้นไปก่อน หยุดสนใจปัญหาที่เกิดขึ้นกับ ไม่ว่าจะเป็น ตาที่มองไม่ชัดในน้ำ จมูกที่มีน้ำไหลมาวุ่นวายกวนใจภายในหน้ากาก หูที่อาจจะระคายเคืองจากความดัน อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง หนาวยะเยือกบ้าง ร้อนวูบบ้าง
จากนั้น ลองเริ่มกำหนดจังหวะของลมหายใจเข้าออกช้าๆเป็นจังหวะ (breathing patterns) เข้า ออก เข้า ออก เพื่อให้สมองและจิตมุ่งสนใจไปสิ่งเดียวที่ทำให้สติเราปลดปล่อย ซึ่งก็คือการควบคุมลมหายใจนั่นเอง จากจุดนี้เราก็เริ่มสังเกตได้ถึงจังหวะลมหายใจที่เราทดลองเองแต่ละรูปแบบ รูปแบบใดที่สามารถทำให้การจมลอยของเราแตกต่างกัน แล้วไม่นาน เราก็จะเริ่มรู้สึกว่าเราควบคุมร่างกายเราได้ดีขึ้นเองจากจังหวะของลมหายใจที่เราเลือกครับ เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดสิ่งเดียวในการดำน้ำ นั่นคือสติและลมหายใจ(หรือปอด)ของเรานั่นเอง
หลังจากนั้น เมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าร่างกายเราควบคุมเองด้วยจังหวะลมหายใจได้แล้ว ลองเริ่มว่ายน้ำออกไปช้าๆใต้น้ำ หยุดช้าๆ เปลี่ยนทิศทางหรือลองวิธีการดำน้ำแบบที่ไม่ถนัด หรือไม่เคยทำก่อน เช่นอาจจะลองลอยตัวนิ่งเหนือปาการังโดยไม่ใช้ฟิน หรือลองว่ายถอยหลังโดยไม่ใช้มือช่วย หรืออาจจะว่ายเอียงตัวหลบมุมกระแสน้ำแรง แล้วสังเกตจังหวะการจมลอยแบบเดียวกันที่จังหวะของลมหายใจที่ต่างกันสิครับ แล้วเราจะรู้สึกได้ถึงช่วงเวลาที่สร้างความสนุกในการดำน้ำได้ดี แปลกใหม่ รูปแบบที่เรากำหนดเอง
การดำน้ำไม่ต่างจากการฝึกสมาธิครับ แต่การดำน้ำไม่ใช่แค่จะดำลึกลงไปในท้องทะเล แต่ดำลงไปถึงห้วงลึกในจิตใจของตัวเอง
ดำลงไปเพื่อแอบได้ยินเสียงหัวใจ ด้วยจังหวะของลมหายใจของตัวเอง
เพื่อลองค้นหา.. และค้นพบ อีกมุมนึงของหัวใจ..แบบที่ไม่มีใครเคยหยั่งถึงครับ