อดีตของน้ำ
เวลาเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง เวลาเป็นสิ่งที่หมุนเวียนเวียนไปข้างหน้าอยู่เรื่อยๆ.. แต่ก็น่าแปลกนะครับ ที่บางครั้งสิ่งที่หมุนเวียนไปแล้วอย่างที่เราเรียกมันว่าอดีต ถ้าเราทำความรู้จักกับมันดีๆ มันอาจจะกลับกระซิบบอกอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นให้เราฟังก็ได้
ไม่ต่างจากน้ำที่แข็งตัว น้ำที่มีอดีต น้ำที่ผ่านห้วงเวลาต่างฤดูกาลในทะเลสาป หรือน้ำแข็งขั่วโลกในทะเล ที่สามารถอธิบายประวัติศาสตร์ หรือทำนายอนาคตของสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมได้อย่างแม่นยำครับ
การดำน้ำใต้น้ำแข็ง (ice diving) เป็นการดำน้ำแบบที่นักดำน้ำไทยอาจจะไม่คุ้นเคยนัก แต่ก็สนุกสนานและเป็นไปได้ไม่ยากเลยครับ ปัจจุบันบ้านเรามีแหล่งดำน้ำแข็งไม่ไกลหลายแห่ง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี การดำน้ำใต้น้ำแข็งเราดำกันเป็นทีมครับ จากปรกติต้องดำคู่กับบั๊ดดี้แค่2คน การดำน้ำใต้น้ำแข็งต้องมีทีมอย่างน้อย4คน และดำได้ทีละไม่เกิน1-2คนเท่านั้น ส่วนคนที่เหลือมีหน้าที่อยู่บนฝั่งหรืออยู่ที่ผิวน้ำแข็งเพื่อให้ความช่วยเหลือ ทั้งการควบคุมการดำน้ำ และในกรณีที่เกิดเหตฉุกเฉิน
ดำน้ำใต้น้ำแข็งเพื่อการสันทนาการจริงๆแล้วก็ไม่ได้แลดูหนาวยะเยือกอย่างที่คิดกันนะครับ เพราะอุณหภูมิที่นักดำน้ำดำกันส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ -5 ถึง 3อาศาเซลเซียส ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างหรือหนาวมากไปกว่าสำหรับคนที่ชอบกีฬาหน้าหนาวเช่น สกี อยู่แล้ว (นักสกีทราบกันดีว่าการเล่นสกีเมื่อมีลมแรง หรือถ้าเลือกเล่นบน slope ที่ชันมาก ตอนสกีลงมาอุณหภูมิอาจจะลดต่ำกว่านี้ซะอีก)
การดำน้ำใต้น้ำแข็งจึงเกี่ยวกับการดำน้ำที่มีอุปสรรคเหนือผิวน้ำ ซึ่งก็คือน้ำแข็งที่ปิดกั้นหรือจำกัดการขึ้นสู่ผิวน้ำของนักดำน้ำ และเป็นเรื่องของข้อจำกัดของอุปกรณ์ซะมากกว่าครับ การดำน้ำแบบนี้ ต้องมีการกำหนดทิศทาง (pre-navigation) ทำ safety line และใช้งานเชือกแห่งชีวิตเส้นนี้ตลอดการระยะเวลาดำน้ำครับ ก่อนการดำจริงต้องมีการควบคุมและการฝึกหัด การหายใจ การควบคุมการจมลอย การฝึกการใช้ dry suit ซึ่งแตกต่างจาก wet suit ที่เราใช้โดยสิ้นเชิง เพราะเราจะอัดอากาศเข้าไปในชุด dry suit ของเราแทนที่การใช้ BCD เหมือนการดำน้ำตามปรกติ เหตผลก็คือการควบคุมอุณหภูมิให้ร่างกายอบอุ่นอยู่ตลอดเวลาโดยใช้อากาศเป็นฉนวนนั่นเอง สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือตัว regulator ทั้ง first stage และ second stage ครับ ปรกติแล้ว regulator ที่มีขายในบ้านเราทำงานได้ที่อุณหภูมิสูงกว่า 5c เท่านั้น สำหรับอุณหภูมิที่ต่ำกว่านั้น จะทำให้ส่วนต่างๆของอุปกรณ์เหล่านี้ทำงานไม่ปรกติ โดยเฉพาะ second stage แบบที่ใช้ diaphragm การดำน้ำใต้น้ำแข็งยังต้องใช้ first stage แบบพิเศษที่ต้องมีท่อแชมเบอร์ติดตั้งเพิ่มเพื่อใส่ของเหลวป้องกันการแข็งตัวของก๊าซ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการ free flow ของอุปกรณ์ทั้งชิ้นครับ
การดำน้ำแบบนี้โดยทั่วไปจะจำกัดเวลาให้น้อยกว่าปรกติครับ คล้ายกับการดำ night dive ที่ปรกติไม่ให้ดำเกิน 30นาทีเท่านั้น อีกอย่างคือ การดำน้ำแบบนี้สถานที่ที่เราไปดำมักเป็นภูเขาหรือสูงเหนือระดับน้ำทะเล เราเรียกว่าการดำแบบ altitude dive คือเป็นสถานที่ที่มีความสูงมากกว่า 1000ft หรือ 300m เหนือระดับน้ำทะเล ต้องใช้ตารางการดำน้ำที่มีการปรับค่าพิเศษ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของนักดำน้ำและของทีมที่อยู่ผิวน้ำแข็ง
แอบเล่าให้ฟังว่า การดำใต้น้ำแข็งเป็นประสบการณ์ที่พิเศษมาก โลกข้างล่างขาวโพลนโมโนโทนสองสี น้ำก็ใสแจ๋วไม่มีกระแส มองอะไรก็ชัดไปหมด ธรรมชาติของสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในทะเลสาปเมื่อเข้าสู่หน้าหนาวจะว่ายตัวอยู่นิ่งๆ ไม่ว่ายหนีนักดำน้ำ เพราะหน้าหนาวเป็นฤดูกาลที่เค้าต้องสะสมพลังเพื่อต่อสู้กับความหนาวเย็นมากที่สุด นักดำน้ำจึงมีโอกาสได้เห็นปลาเทราต์ตัวอ้วนหรือปลาไหลว่ายหยุดนิ่งให้ดูกันได้ไม่ยาก นอกเหนือจากนั้นก็ยังมีภูมิศาสตร์หรือบริบทของพื้นที่ใต้ทะเลที่แตกต่างจากหน้าร้อนแบบที่เราเคยมองเห็น ทั้งความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะแลดูเห้งเหี่ยวแต่ก็น่าลึกลับน่าฉงน ความงุนงงในทิศทางที่นักดำน้ำต้องเจอ ความตื้นเต้นในอีกรูปแบบที่หลุดออกไปอีกมิติหนึ่งของการดำน้ำในแบบปรกติครับ
น้ำแข็งสามารถสะกดสรรพสิ่งรอบตัวเราให้นิ่ง หยุดเวลาของทุกสิ่งไว้ให้ช้าลง สะสมอดีตที่ผ่านมาของห้วงเวลาที่เรามองไม่เห็นหรือเผลอมองข้ามไป
..และเมื่อเราพร้อมและกล้าที่จะก้าวเดินกลับลงไปหามัน พาตัวเองลงไปข้างล่าง ไม่หวนพะวงหาหวนหาสิ่งที่รออยู่ข้างบน ไม่แน่นะครับ บางที เราอาจจะพบ และเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของเวลา
..ความเปลี่ยนแปลงซึ่งว่ายกลับมา ..กลายเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตเรา ก็เป็นได้นะครับ