Disruption in Diving วงการดำน้ำ ‘ความตกต่ำ หรือ โอกาสใหม่’
ทุกวงการ ทุกยุคทุกสมัย เราเห็นสิ่งใหม่มาแทนสิ่งเก่าเสมอ พฤติกรรมของนักเดินทางท่องเที่ยวอิสระที่เลิกพึ่งบริษัททัวร์ (FIT) หันมาเดินทางเอง จองทุกอย่างเอง มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจการบินที่มีการแข่งขันกันอย่างรุ่นแรง ลดบริการบางอย่างที่เกินความจำเป็นสร้างนิยามใหม่ของความหรูหราที่พอเพียงให้กับโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ทุกอย่างในชีวิตเราเปลี่ยนแปลงไปด้วยการทำอะไรก็ได้ผ่านมือถือเครื่องเดียวในยุคของโซเชียลแชรริ่ง ความรักในชีวิตที่ต้องการอิสระ ความต้องการพื้นที่หายใจของคนเมือง ความต้องการในการใช้เวลาของตัวเอง
สิ่งเหล่านี้แปลโจทย์ออกมาเป็นการการลดต้นทุนผนวกกับการมองหาทางเลือกที่ยืดหยุ่นกว่าของผู้บริโภครุ่นใหม่ทำให้ฟรีแลนซ์เซอร์เพิ่มสูงมากชึ้นในสังคมปัจจุบัน
แฟ้มภาพ INN news
การเข้ามาของธุรกิจท่องเที่ยวดำน้ำในประเทศไทยเมื่อ 25-30 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นอีกโลกอีกฟากที่สวยงาม การดำน้ำสมัยนี้ปลอดภัยขึ้น สะดวกมากขึ้นแบบที่แตกต่างกับภาพลักษณ์ของการดำน้ำในยุคเริ่มต้น ทำให้กิจกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดำน้ำ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมขนาดใหญ่เล็ก เกสเฮ้าร์ รวมถึงวิชาอาชีพครูฝึกสอนดำน้ำเกิดขึ้นอย่างมากมายในหลายปีที่ผ่านมา
ในช่วงแรก กิจกรรมดำน้ำระยะเริ่มต้นในไทยยังกระจุกตัวอยู่บนเกาะเล็กๆที่ถูกค้นพบโดยนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่ม backpackers ประมาณปี 2530 เรารู้จักเกาะนี้ดีในชื่อ เกาะเต่า หลังจากนั้นเกาะเล็กๆที่ไม่มีอะไรบนเกาะแต่มีจุดดำน้ำรอบเกาะหลายจุดที่สวยงามเริ่มเผยแพร่ออกไปในฐานะเมืองหลวงแห่งหนึ่งของการดำน้ำในโลก โมเดลหรือรูปแบบการค้นพบจุดดำน้ำใหม่โดยนักดำน้ำต่างชาติได้พัฒนาออกมาเป็นการบริการดำน้ำบนเกาะของคนไทยเองก็ได้ลาม ต่อยอด ไปยังเกาะที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติเกาะอื่นๆของไทย เช่น เกาะหลีเป๊ะ เกาะช้าง
' เศรษฐกิจไทย เป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก '
ในเวลาที่ค่าเงินแข็ง ส่งออกแย่ นักท่องเที่ยวต่างก็หายไป ทั้งตลาด in-bound และ ตลาด domestic หลายปีที่ผ่านมาเราจึงเห็นวัฐจักรของการท่องเที่ยวทางทะเล ธุรกิจรีเทลที่เกี่ยวข้องกับการดำน้ำ การฝึกสอนดำน้ำ เกิดการบูมและตกต่ำของอยู่เป็นระยะ
โครงสร้างธุรกิจดำน้ำและท่องเที่ยวทางทะเลแตกต่างจากการท่องเที่ยวแบบอื่น บริบทของธุรกิจพึงพาโครงสร้างปัจจัยหลัก 5 ส่วน ได้แก่ 1. จุดท่องเที่ยวใต้ทะเล (Dive Sites) 2. สถานที่พักเฉพาะแบบ (Purposed-built Dive Resort / Boat) 3.การเดินทาง (Transportation & Logistics) 4. สินค้าและอุปกรณ์ (Dive Equipment Retails) และ 5. สถาบันที่ออกใบรับรองให้นักท่องที่ยวดำน้ำและออกใบอนุญาติครูฝึกดำน้ำ (Dive Agencies & Dive Instructors)
หลายปีที่ผ่านมาเราเห็นโครงสร้างปัจจัยหลักทางธุรกิจอย่างเดียวที่เราพอจะควบคุมได้ ค่อยๆหายหรือเสื่อมโทรมไปเรื่อยๆ นั่นคือ จุดท่องเที่ยวใต้ทะเล
สิ่งอื่นนอกเหนือจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นสถานที่พักที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำน้ำ (Dive Centers / Dive Hotels & Resorts) การเดินทาง (Logistics, Transporation, Supplies) สินค้าหรืออุปกรณ์ (Applications, Products, Research & Development) ค่าใบอนุญาติจากสถาบันต่างประเทศที่ออกใบรับรอง (Certifications) หรือ แม้แต่การผลิตครูสอนดำน้ำ (Instructor Course) ล้วนอยู่ในการควบคุม ไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม จากบริษัท หน่วยงานจากต่างประเทศ หรือ ชาวต่างชาติ แทบจะเบ็ดเสร็จทั้งสิ้น
' สำหรับคนไทย หรือ เศรษฐกิจที่เกี่ยวโยงกับการดำน้ำในประเทศ เรียกว่า แค่เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเราเอง กัดกินเนื้อตัวเองกันไปเรื่อยๆ '
ความสะดวกสบายของการเข้าถึงความสนุกของการดำน้ำท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ ทำให้บริบทของ ความปลอดภัย สับสนกับ ความสะดวก ความง่าย หรือแม้แต่ ความมักง่าย
เมื่อกระแสธุรกิจอยู่ในช่วงขาลง ปัญหาเชิงโครงสร้างในการเชื่อมต่อโครงสร้างหลักทั้ง 5 ไม่ได้รับไม่ได้สร้างการบูรณาการ กลยุทธ์การแก้ปัญหาแบบบ้านๆที่เราทำกันได้ คือ การเล่นราคา ซึ่งก็หมายถึงการลดคุณภาพลงในหลายระนาบ เมื่อแก้ปัญหาแบบบ้านๆ มูลค่าของแบรนด์ของผู้ประกอบการไทย ครูฝึกดำน้ำไทย จึงไม่มี หรือมี ก็ไม่ยั่งยืน
การแข่งขันกันที่ราคาสินค้า (face value) ซึ่งเราไม่ได้เป็นเจ้าของ เพราะนำเข้ามาแทบทั้งหมด สุดท้าย คนได้กำไรจากเม็ดเงินก็ยังเป็นชาวต่างชาติ เราตัดราคาโรงแรมเพื่อให้อยู่ได้ในยุคที่ OTA (Online Travel Agents) ครองเมือง ผุ้บริโภคเปรียบเทียบราคาได้แบบนาทีต่อนาที สุดท้ายพอกำไรไม่มีก็ต้องหารายได้จากที่อื่นมาโปะ เช่น ค่าอาหารเครื่องดื่มที่สูงมาก การเล่นราคาแพคเกจดำน้ำ (ที่ในที่สุดสายป่านไม่ยาว ไม่มีกระแสเงินสดที่เหมาะสมก็อยู่ไม่ได้) การลดราคาค่าฝึกสอนดำน้ำ ทั้งระดับการฝึกสอน หรือแม้แต่ระดับสถาบันของชาวต่างชาติที่ออกใบรับรองก็ยังตัดราคากันเอง
สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะดีกับผู้บริโภคในระยะสั้น เพราะผู้บริโภคอาจสร้างจินตภาพว่าการดำน้ำคือความง่ายและเลือกใช้ราคาที่ถูกเป็นตัวตั้ง แต่คุณภาพทุกสิ่งในภาพรวมก็ตกต่ำลง ไม่ว่าจะบริการจากครูฝรั่งที่เข้ามาทำงานด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว ความปลอดภัยในการสอนที่เน้นเร็วไว้ก่อน สินค้าหรืออุปกรณ์ที่ถูกลงแต่คุณภาพก็ลดลงตามราคาและกลไกของตลาด
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวดำน้ำมีลักษณะกระจายตัว (Semi-Segmented) คือ เหมือนจะรู้จักกันหมด เหมือนจะรวมตัวกันแน่น แต่จริงๆก็แค่จับมือกันไว้หลวมๆเท่านั้น ไม่มีการเชื่อมต่อที่พร้อมเพรียงกัน คนในพร้อมออก คนนอกพร้อมเข้า กระแสการกลับมาบูมของการท่องเที่ยวดำน้ำใน 2-3ปีที่ผ่านมาจึงเหมือนแค่ไฟไหม้ฟาง ไม่ต่างจากกระแสขึ้นๆลงๆในหลายสิบปีที่ผ่านไป จึงไม่แปลก ที่ผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำไทย และ ครูสอนดำน้ำชาวไทยที่ทำเป็นอาชีพจริงๆแทบจะนับจำนวนได้ ที่เหลือก็ทำเป็นอาชีพเสริมเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ครูชาวต่างชาติมีอยู่เต็มเมืองเต็มเกาะ แถมเดินทางเข้าออกเมืองไทยทำงานกันได้อิสระ ทุกกฏหมายบ้าง ไม่ถูกกฏหมายบ้าง
การท่องเที่ยวดำน้ำจึงถูก disrupt ด้วยตัวเอง ตั้งแต่ต้น และตลอดเวลาที่ผ่านมา
ไม่ใช่เพิ่งเกิด ด้วยโครงสร้างธุรกิจทั้ง 5 อย่างขาดการเชื่อมต่อกัน ความพยายามในการอยู่รอดจาก disruption อาจจะต้องลองมองโลกใบเดิมที่หมุนแบบใหม่ มองจากปัจจัยพื้นฐานการของพัฒนา และพิจารณาปัจจัยทั้ง 5 ผ่านมือและสมองของเราเอง ใช้เครื่องมือยุคใหม่ที่มีให้เลือกใช้เพื่อพัฒนาตัวเองเยอะแยะ แต่ต้องคิดก่อนว่าจะใช้มันอย่างไรให้ไปได้กับโครงสร้างที่อยู่รอบตัวเรา
ไม่ว่าจะเป็น Social Commerce ซึ่งไม่ใช่เลือกแค่เป็นพ่อค้าแม่ค้าไอจีไลฟ์สด หรือโพสต์ขายของกันไปวันๆ E-Commerce พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่ใช่แค่เป็นผู้ขาย แต่เป็นผู้ซื้อที่เข้าใจ Logistics และ Supply Chain ของสินค้า และ Conversational Commerce ซึ่งหมายถึง การส่งเสริมการซื้อขายและบริการผ่านประสบการณ์ที่ดีโดยยึดความสะดวกผู้บริโภคเป็นหลัก การออกแบบพัฒนาสินค้าเอง ลงทุนเองถ้ามีทุน หรือถ้าไม่มีทุนก็ทำผ่านการระดมทุนรูปแบบที่ต่างประเทศเค้าทำกัน (Cloud funding) การใช้เลือกสารพัด Application ไม่ว่าจะซื้อเค้ามา หรือเขียนเอง เพราะเครื่องมือเหล่านี้ใครๆก็ใช้ได้ แต่ใช้อย่างไรให้เชื่อมต่อโดยคำนึงถึงปัจจัยหลักทั้ง 5 ได้ ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่าย
..ทั้งที่การดำน้ำ จริงๆไม่ใช่เรื่องยาก
..ตั้งแต่การเรียน หรือการเป็นครูฝึกสอน เพราะใครๆก็เรียนเป็นนักดำน้ำได้ ใครๆก็เรียนเป็นครูสอนดำน้ำได้ การมองโครงสร้างของธุรกิจ และการสร้าง การบริหารประสบการณ์ต่างหากที่เป็นเรื่องอีกเรื่องทำให้อุตสาหกรรมนี้อยู่รอดได้ เพื่อผ่านช่วงเวลายากแบบนี้ไปได้อย่างยั่งยืน
ผู้ประกอบการที่ยังพึ่งพารูปแบบเดิมของการเล่นราคา หรือยึดราคาเป็นตัวตั้ง ไม่นานก็จะหายหน้าไป เหลือไว้แต่ธุรกิจต่างชาติที่ไม่ว่ายังไงก็ได้เม็ดเงินจากไลเซนต์ (Certification Card) จากสินค้า (Retail) จากการท่องเที่ยวทั้งระบบ (Dive-related Tourism) ถ้าผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในวงจรนี้เลือกเป็นฟันเฟือง ไม่ใช่ตัวที่ขับเคลื่อนอย่างแท้จริง
โลกนี้ไม่มีอะไรคงอยู่ได้ตลอดกาล ในฐานะนักดำน้ำคนหนึ่ง ผู้เขียนแอบมองยุคเริ่มต้น และการเปลี่ยนแปลงของวงการท่องเที่ยวดำน้ำมาตั้งแต่แรกเริ่มอย่างเงียบๆ ได้เจอผู้คนมากหน้าหลายตาเปลี่ยนแปลงเดินเข้ามา แล้วก็เดินออกไป
..บางคนยังคงอยู่เพราะอยากอยู่ ..บางคนอยู่ เพราะต้องอยู่
..หลายคนทำเป็นอาชีพ ..หลายคนทำ เพราะคิดว่าเป็นมืออาชีพ
..หลายคนทำจนไม่มีอาชีพ ..บางคนกำลังจะเข้ามา เพราะอยากมีอาชีพ...
มีคำพูดในวงการดำน้ำที่ได้ยินเสมอในทุกยุคทุกสมัย คือ ใครเริ่มคิดทำดำน้ำเมื่อไหร่ ก็เตรียมตัวเจ๊งไว้ได้เลย เพราะมีแต่ขาดทุน ไม่ต่างกับการเอาเงินมาถมทะเลที่ไม่มีวันเต็ม
การมาถึงของ Digital Disruption กับโลกใหม่ใบนี้ โลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วแบบนี้ จึงมองได้สองด้าน
คือ ‘ โอกาสใหม่ ' ซึ่งต้องคิด ต้องวางแผน
หรือ หนังม้วนเก่าของ ' ความตกต่ำ' ที่เรากำลังรอมันเดินเข้ามา
รองศาสตรจารย์ ดร กุลเดช สินธวณรงค์
ที่ปรึกษากระทรวงการคลัง ประเภท ก. ธุรกิจท่องเที่ยวและกีฬา