มาให้ไกล.. แล้วไปให้สุด ICE Freediving
สมัยผมเริ่มดำน้ำเพราะรุ่นพี่คนนึงชวน ผมถามเค้าว่า พี่ๆข้างล่างมันมีอะไรเหรอ พี่เค้าตอบว่า ‘โห มันคนละโลกเลยนะเทอว์ ต้องมาลอง’ ตอนนั้นก็ไม่ได้อินอะไรมาก เอาก็เอาวะ ลงไปครั้งแรก จุกครับ อึดอัด แต่ก็ยอมรับ ว่ามันคนละโลกจริงๆตามที่เค้าว่ากัน
จากดำน้ำลึกแบบ SCUBA มาสู่ Freedive ใครจะคิดว่าเรื่องมันจะจบง่ายๆ
การ Freedive ที่เราเห็นภาพสวยๆ ลีลางามๆ ส่วนใหญ่เป็นการดำน้ำที่การเรียนการสอนและการฝึกจะอยู่บนพื้นฐานของร่างกายเพื่อกระตุ้น Dive Reflex แบบง่าย ซึ่งใครก็ทำได้ครับ ใครที่คิดว่ากระแส Freedive ในหลายปีที่ผ่านมามันแรงจัด อีกฝากหนึ่งของโลกมีเทรนด์ใหม่ที่แรงและเย็นยะเยือก สุดติ่งกระดิ่งแมวยิ่งกว่า มันคือ Ice Freediving ครับ ( แค่ฟังก็หนาวละ)
Kiki Bosch: Ice Freediver
Ice Freediving มีการฝึกกันมานาน แต่ไม่ง่ายหรือเอนเตอเทนเหมือน Disney On Ice การดำน้ำแบบนี้ถือเป็น super extreme sport แบบนึง ถึงไม่ได้ฝึกหรือเรียนกันตามกระแสหลัก ส่วนใหญ่ดำกันในรัสเซีย ฟินแลนด์ ไอซแลนด์ และแทบสแกนดิเนเวีย ประเทศนอร์ดิคแทบทั้งหมด อุณหภูมิน้ำอยู่ที่ -30c ถึง 3c ลักษณะการดำน้ำใต้น้ำแข็ง หรือในสภาวะที่อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งแบบนี้ นักดำน้ำไม่ได้มีอิสระชีวิตดี๊ดีเหมือนกับการฟรีไดฟ์ในโซนน้ำอุ่นแบบมัลดีฟส์ บาหลีหรือเมืองไทย เพื่อความปลอดภัยเค้าจะดำกันทางดิ่งลงตรงๆ โดยเฉลี่ยลงกันไม่ลึกมาก ไม่เกิน 20-30 เมตร (สถิตโลกอยู่ประมาณ 50-60เมตร) หรือดำจาก หลุมน้ำแข็งหลุมหนึ่งไปโผล่อีกหลุมหนึ่งเท่านั้น (ส่วนใหญ่ก็ไม่เกิน 20-30เมตร) คล้ายๆกับการดำถ้ำเบื้องต้น (Cavern Diving) คือ ต้องมีจุดขึ้นจุดลงจุดเดียวกัน ถ้าน้ำแข็งไม่ได้บล๊อกไว้แต่อยู่รอบๆ ก็มีการดำน้ำฟรีไดฟ์อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการดำน้ำในพื้นที่เปิด (open water ice environment) ซึ่งต้องอยู่ในระยะที่เพื่อนหรือ buddy มองเห็น ถ้าแบบนี้ จะไปโผล่ตรงไหนก็แล้วแต่ร่างกายจะพาไปครับ
ลักษณะของการฝึก ตอนนี้มีหลายทฤษฏีที่ต้องรียนรู้ ที่สำคัญ คือการดำน้ำที่มีระดับความสูง (Altitude Dive ลองหาอ่านดูในงานเขียนที่ผ่านมาได้ครับ) มีการฝึกแบบ de-concentration ซึ่งเป็นการทำให้สมองลาโลก เอ๊ย ละโลก(ชั่วคราว) นักฟรีไดฟ์แนวนี้เชื่อว่าสมองนอกจากจะใช้ออกซิเจนถึง 40%ระหว่างการฟรีไดฟ์แล้ว ยังเชื่อว่าน้ำที่เย็นจัดจะทำให้ร่างกายเข้าสู่ pseudo-hibernation หรือการจำศีลเทียม ทำให้กล้ามเนื้อ การหมุนเวียนเลือด อยู่ในจุดเผาผลาญต่ำที่สุด
นอกจากนี้ การฝึกยังมีการใช้ WIM Hof Method (คุณ วิม ฮอฟ เป็นชาวดัตช์ผู้ครอบครองสถิติโลกหลายอย่าง รวมทั้งสถิติโลกผู้ทนทานต่อการที่ร่างกายทั้งตัวสัมผัสน้ำแข็งได้นานที่สุด) ซึ่งคนเมืองหนาวทำกันเยอะ เชื่อว่าการทำให้ตัวเองได้สัมผัสความหนาวเย็นจะเป็นประโยชน์และช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของดีขึ้นก็ได้โดยเฉพาะกับการฟรีไดฟ์ โดยการการสัมผัสน้ำเย็นซ้ำๆบ่อยๆรัวๆๆ ผลงานวิจัยที่ยังไม่สรุปชัดเจน (inconclusive) ระบุว่าถ้าฝึกแบบนี้ ร่างกายจะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มมากขึ้น มากจนไปเบียดเซลล์เม็ดเลือดแดง ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงรีบบีบแล้วส่งต่องออกซิเจนไปตามกล้ามเนื้อและสมอง การฝึกตามหลักการนี้ยังเชื่อว่า เป็นลดการทำงานของระบบทางเดินหายใจทั้งระบบได้ถึงร้อยละ 40 เพราะความเย็น(จัด) ทำให้อัตราการเผาผลาญของร่างกายสูงขึ้นแบบฉับพลันในช่วงหลังการแช่น้ำเย็น(จัด)ก่อนการลงฟรีไดฟ์ การที่อัตราการเผาผลาญสูงขึ้นนี้จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันด้วย ส่งผลให้มีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวช่วยตอบสนองทางร่างกาย โดยไปกระตุ้นให้ที่ร่างกายหลั่งสารสื่อประสาทชื่อ nor-epinephrine ปริมาณมากออกมา เชื่อกันว่า การได้รับความเครียดจัดๆจากความเย็น สามารถทำให้ระดับของ nor-epinephrine เพิ่มขึ้นถึง 3-5 เท่า ทำให้โปรตีนในเลือดลดลง ร่างกาย( metabolism ในเม็ดเลือดแดง)ก็หยุดเผาผลาญโปรตีนขั่วคราวแทบจะทันที เมื่อหยุดเผา ก็ไม่มีการผลาญออกซิเจนในจุดที่เราไม่ต้องการ ( โอยย..แค่อ่านก็เหนื่อยละ )
Courtesy of WIM approach
dive site ที่ไปบางที่ก็หาง่ายเอาตามทะเลสาปนี่แหละครับ แต่ก็ขึ้นกับข้อกฏหมายเรื่องเขตอนุรักษ์ในหลายประเทศ เช่นญี่ปุ่น ห้ามลงเด็ดขาดถ้าไม่มีใบอนุญาตจากท้องถิ่น หรือที่อิตาลี ที่ผู้เขียนไปลองฝึกมา ก็ลงได้เฉพาะก่อนเดือนพฤศจิกายนซึ่งที่ไม่ได้เย็นมาก (หนาวมากก็ลงไม่ไหวเหมือนกัน แก่ละ) และให้ลงได้ในระยะไม่เกิน 20เมตรจากฝั่งเท่านั้น
ในรัสเซีย อลาสกา หรือสแกนดิเนเวีย dive site บางที่ก็เดินทางลำบากพอตัว เพราะต้องนั่ง snow mobile ออกไปหาแผ่นน้ำแข็งแล้วพกเอาเลื่อยตัดน้ำแข็งไปด้วย ทีมงานก็ต้องจัดเต็ม อุปกรณ์ครบมือ (ฟังดูดิ้นรนพอตัว)
โลกของฟรีไดฟ์ ไม่ต่างกับการดำน้ำทั่วไปครับ คือ.. คนละโลกกับบนบกจริงๆ
และก็ยังมีอะไรให้เราค้นหาอยู่เรื่อยๆ
ขึ้นอยู่กับว่า..
เราอยากเดินไปสุดแค่ไหน
The Author is PADI Master Freediver Instructor
Comments