'ความลึก' ที่ยังเป็น 'ความลับ' ของ Freediving
ก่อนเริ่มต้นการสอนในแต่ละครั้ง ผมมักจะถามผู้ที่สนใจเรียน freedive เสมอถึงเหตผล ว่าอยากเรียนไปทำไม บ้างก็ว่าอยากกลั้นหายใจได้นานขึ้น บ้างก็อยากได้รูปถ่ายสวยๆ สำหรับคนที่ดำน้ำลึกเป็นอยู่แล้วบางคนบอกเบื่อไม่อยากแบกอุปกรณ์หนักๆ บางคนบอกอยากลองดู บางคนบอกว่า ก็แค่อยากรู้ว่า freedive นี่มันเป็นยังไง
Bajau Spearfisher - Philippines
สมัยก่อน คนไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ ไม่ต้องการหาเหตผลว่าจะลงได้ลึกแค่ไหนหรอกครับ วิถีฟรีไดฟ์อยู่กับเรามานานแล้ว ชาวประมงที่เค้าหาปลากันแบบนี้มาเป็นร้อยเป็นพันปีเค้าก็ไม่ได้สนใจหาเหตผลอะไรนอกจากทำมาหาเลี้ยงชีพ เหตผลทางวิทยาศาตร์ที่เราพยายามหากันว่า freedivers จะสามารถพัฒนาตัวเองให้อยู่ในน้ำกันได้นานได้ลึกสุดใจกันขนาดไหนเพิ่งมาเริ่มพิสูจน์หากันจริงจังเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ เหตผลเหล่านี้ก็ยังไปไม่สุด (inconclusive) เพราะระยะเวลาศึกษามันสั้นมาก และมักมีข้อมูลใหม่มาแย้งหรือเสริมเรื่องราวความลี้ลับของการดำอึดเดียวอยู่เสมอ
หลายคนมองว่าจะ freedive ได้เก่งต้องฝึกบ่อยเข้าไว้ คิดแบบนั้นก็ไม่ได้ผิดครับ แต่ไม่ได้ถูกเสมอไปสำหรับทุกคน ล่าสุดคุณหมอท่านหนึ่งจากเดนมาร์ก (ข้อมูลจาก Cell Magazine) ทำวิจัยเกี่ยวกับชาวเลบาเจา (Bajau) สรุปผลออกมาว่า การที่ชนเผ่ากลุ่มนี้ดำน้ำได้ทีนึงกว่า 50-70เมตร อึดได้หลายนาที ไม่ได้เกิดจากการฝึกดำน้ำทุกวันตั้งแต่เด็ก (จริงๆไม่อยากเรียกว่าการฝึก เพราะเค้าดำกันเพื่อหาอาหารหอยและปลาใต้ทะเลมากกว่า) แต่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในยีนกลายพันธุ์ (mutation) ซึ่งเป็นผลของกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ทำให้ม้าม (spleen) ของเค้าใหญ่ขึ้นกว่าคนทั่วไป 50% ทำให้อึดได้นานเพราะสำรองเม็ดเลือดแดงได้เยอะครับ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ตามปรกติร่างกายไม่ได้ต้องการอวัยวะที่เรียนกว่า ม้าม สักเท่าไหร่ ไม่มียังไม่เดือดร้อนเลย เพราะม้าม มันทำหน้าที่เล็กๆน้อยๆในการช่วยตับในการทำลายเซลล์เม็ดเลือดที่ร่างกายไม่ต้องการ มากกว่าจะเป็นจุดผ่านให้อ๊อกซิเจนตอนเราฟรีไดฟ์และเริ่มมี Blood Shift หรือการเปลี่ยนแปลงการหมุนเวียนของเลือด (เอาล่ะ เริ่มยากล่ะสิ ไม่เล่าต่อละ)
คุณหมอทางจิตวิทยาหลายท่านบอกว่า การที่นักฟรีไดฟ์รู้สึกว่ามัน ‘ฟิน’ เหลือเกินกับวิถีฟรีไดฟ์ ไม่ใช่เพราะความอิสระที่เราสร้างจินตภาพขึ้นมาเองจากแสง สี ความประทับใจที่มองเห็นธรรมชาติ แต่เกิดจากร่างกายและจิตใจที่ปรับสมดุลทาง ‘ความทุกข์’ จากการขาดอากาศ แล้วมาชดเขยด้วย ‘ความสุข’ จากการขึ้นสู่ผิวน้ำแล้วได้หายใจเฮือกแรก (แหม มันเหมือนได้เกิดใหม่อะไรปานนั้น)
ในทางการแพทย์ การลงดำน้ำตัวเปล่าที่ความลึก 3-40เมตรมีความเสี่ยงในการขาดอากาศที่ไม่ควรล้อเล่นอยู่แล้ว การดำน้ำแบบนี้ขัดกับทิศนคติทางการรักษาผู้ป่วยโดยสิ้นเชิง ก็รู้อยู่แล้วว่าเสี่ยง จะทำไปทำไม ทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าเหรอ (ถ้าถามแพทย์กี่ท่าน ก็จะพูดหรือมีความเห็นแบบนี้) แต่มโนคติสำหรับนักฟรีไดฟ์ทั่วโลก ความเสี่ยงแบบนี้ คือ ‘ประสบการณ์’ คือ ‘ความแปลกใหม่’ มันเหมือนอยู่อีกโลกหนึ่ง (Euphoric คงได้ยินคำนี้กันบ่อยนะครับ) ทั้งที่อาการแบบนี้เกิดได้ส่วนหนึ่งเพราะไนโตรเจนเริ่มเป็นพิษได้ ร่างกายจึงเริ่มมึนๆชาๆ เหมือนเสพยาหรือเมาเหล้า
การสอนครูฟรีไดฟ์ในบางครั้งบางที่ถึงขนาดแสดงอาการหมดสติจากการขาดอากาศให้ดูกันทีเดียว (temporary blacked out) ผมก็ไม่รู้ว่า จะทำไปเพื่อให้ ฟิน หรือ ทำไป เพื่อความปลอดภัยของผู้เรียนในอนาคตอย่างไร
การเรียนฟรีไดฟ์ นักเรียนระดับ Advanced ที่ต้องลงลึกกว่า 16-20เมตรขึ้นไปควรทราบว่า ร่างกายจะถูกบีบให้ทนกับการหมุนเวียนของเลือดที่แตกต่างจากความดันปรกติหลายเท่า ต้องฝึกกับการขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยความเร็วช้าพอที่จะให้ไม่หมดสติจากการที่อ๊อกซิเจนออกจากเลือดเร็วเกินไป (losing O2 partial pressure) ต้องฝึกตัวเองให้รู้จักเส้นบางๆระหว่างชีวิต กับความตาย (ที่มักไม่มีคนบอก) และอื่นๆอีกมากที่ยังเป็นความลับ
Freediving จึงไม่ได้เกี่ยวกับ ‘ความลึก’ เพียงอย่างเดียว เพราะความลึกที่ระดับต่างๆจะส่งผลต่อสรีระของร่างกายของแต่ละคนอย่างไรนั้นมันยังพอวัด พอจะอธิบายกันได้
แต่ Freediving ยังมี ‘ความลับ’ อีกมากมาย ที่ความลึกเท่าไหร่ ความอึดแค่ไหน ยังบอกอะไรไม่ได้
และ ส่วนหนึ่งของ Freediving ยังเป็นวิทยาศาตร์ ที่ทุกวันนี้ยังรอวันพิสูจน์ประเด็นใหม่ๆ
..อยู่เรื่อยๆ
The Author is Master Freediver Instructor
Comments