' โลกหยุดหมุน แต่เรายังมีอากาศ ' Surviving from COVID19
APNEA เป็นคำมาจากภาษากรีกโบราณ แปลว่า one-breathe หรือ หนึ่งอึดลมหายใจ.. ในเวลาที่ทุกคนกลั้นหายใจ ทุกคนมีเวลาเป็นนาที เป็นวินาที บนนาฬิกาจับเวลาที่แตกต่างกัน แต่ในหนึ่งลมหายใจนั้น ทุกคนมีเวลาส่วนตัวที่เท่ากัน เวลาซึ่งเป็นหน่วยที่วัดไม่ได้ เพราะมันคือ ความสงบของสติที่คุมไว้กับตัวเอง
ปรกติในเพจ และ web ของ Sea Mastermind ผมจะเขียนแต่เรื่องดำน้ำ Freedive บ้าง SCUBA บ้าง ช่วงนี้ไม่มีอะไรให้เขียน เพราะเชื่อว่าทุกคนไม่อยู่ในอารมณ์จะอ่านซักเท่าไหร่ และเพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่มาเรียนดำน้ำส่วนใหญ่ก็ทำธุรกิจ หรือทำงานรับเงินเดือนกันทั้งนั้น คงโดนกันหนักกันทุกคน
เมื่อทุกอย่างถึงจุดที่อยู่นิ่งสนิท หมดทั้งกำลังใจ ความเชื่อมั่น มีแต่ความกลัว ความกังวล ผมจึงขอแชร์ประสบการณ์ในฐานะคนที่ผ่านอะไรมาพอสมควรระดับหนึ่ง ในหลายยุคหลายสมัย ไม่ว่าจะเศรษฐกิจขึ้นๆลงๆ ค่าเงินแข็ง ลอยตัว ดอกเบี้ย คุมดอกเบี้ย วิกฤตต้มย้ำกุ้ง ปฏิวัติรัฐประหารหลายรอบ เสื้อแดง เสื้อเหลือง ปิดสนามบิน โรคซาร์ อีโบล่า.. จะหนักหนาสากรรจ์ ยังไงก็แล้วแต่ มีคำๆหนึ่งที่อยู่ในหัวผมเสมอ
‘ This too, shall pass ’
เดี๋ยวมันก็ผ่านไปครับ
การเตรียมตัวให้เรื่องร้ายของธุรกิจ หรือชีวิตการทำงานของเราให้มันผ่านไปแบบ ‘เจ็บแต่พร้อม’ สิ่งที่แนะนำให้ทำ หรืออยากให้คิดทบทวน ที่ผมนึกออกตอนนี้คือ
1. มองโลกจากความเป็นจริง ย่อยข้อเท็จจริงด้วยสติ ข้อมูลในโซเชียล ตอนนี้มันเปรอะไปหมด โรคติดต่อใครก็ไม่อยากเป็น แต่ที่สุดแล้วทุกท่านก็ทราบ ว่าวันหนึ่งมันก็เหมือนโรคอื่น โรคที่จะกลายเป็น Seasonal Flu หรือ Influenza ซึ่งมีวัคซีนรักษา แม้แต่โรค AIDS ตอนนี้ก็กลายเป็น Chronic Disease ที่จัดการได้ถึงแม้คนติดยังเพิ่มขึ้น แน่นอน ไม่มีใครอยากติด แต่มีวันนึงเราจะวิธิป้องกันอย่างชัดเจนว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ
2. สำหรับธุรกิจ และอาจจะสำหรับคนที่กินเงินเดือน ตอนนี้ ‘เงินสดสำคัญมาก’ งด เลิกใช้จ่ายอะไรที่ไม่จำเป็น เก็บเงินสดไว้กับตัวก่อนอย่างน้อย 3-6เดือน ถ้าเป็น start-up หรือธุรกิจขนาดเล็กก็ประมาณ 20-40%ของมูลค่าธุรกิจหรือยอดขายต่อเดือน ถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือนก็อย่างน้อย 10-20%ของเงินเดือน ถ้าไม่มีให้เก็บเพราะเดือนชนเดือนอยู่แล้วก็ต้องตัดค่าใช้จ่าย หามาทดเงินสดครับ
3. การเพิ่มทุน หรือการลงทุนที่ไม่แน่นอน ตอนนี้หยุดไปก่อน ดูตลาดหุ้นเป็นตัวอย่าง ณ วันนี้ลงไปครึ่งนึงแล้ว แตกต่างจากตลาดต่างประเทศมาก ลงเหมือนกัน แต่สัดส่วนการลงต่างกัน แปลว่าพื้นฐานตลาดหุ้นไทยแทบไม่มีโครงสร้างอะไรรองรับเลย ความเสี่ยงจึงสูง อย่าไปคิดว่า เฮ้ย ขาลง สวนตลาดเข้าไป เจ็บมาเยอะแล้วครับคิดแบบนี้
4. การลงทุนกับสิ่งของที่หมดอายุง่าย หรือมี demand ตามสภาวะ ให้คิดดีๆ เช่น อาหาร ก็เสี่ยง แน่นอน คนเราต้องกินต้องใช้ แต่ทุกคนก็คิดแบบนี้หมด การแข่งขันเรื่องส่งอาหารจึงแรงกว่าเดิม สู้เจ้าใหญ่เค้าไม่ได้ครับตอนนี้ ถ้าเป็นสถานการณ์ปรกติเรามีเวลาสร้างแบรนด์ ตอนนี้เราไม่มี พอของเสียก็หมดราคา เจ๊งสิครับ
5. เริ่มวางแผนกับสิ่งที่จะเกิด แน่นอน จะช้า จะเร็ว ที่สุดแล้วโรคนี้มันก็จะทุเลาลง ถ้ากลัวไปซะทุกอย่างไม่เตรียมอะไรไว้เลย พอเศรษฐกิจโงหัวจะตั้งตัวไม่ทัน ตอนนี้กวาดบ้านเราไป ดูอะไรในบ้านเราไป จัดระเบียบสิ่งของในบ้านเราไป วางแผนอนาคตของเราไป รอวันเวลาที่เหมาะสม เมื่อฟ้าเปิด เราจะพร้อมกว่าคนอื่นครับ
6. อย่าไปหวังกับสัญญาทางการค้าที่ถืออยู่ หรืออย่าไปหวังกับเงินที่ยังไม่เห็น ตอนนี้ไม่ว่ารัฐบาล ลูกค้าเรา ลูกค้าเค้า รายใหญ่ขนาดไหน ทุกคนเจอปัญหาแบบนี้ทั้งนั้น จะหวังว่ารอเงินจากเค้า บอกได้เลยว่ายากครับ รายได้ปรกติของเราในส่วนนี้จึงลืมไปก่อนได้เลย มองหาสิ่งใหม่มาทดแทนดีกว่า ให้ดูจากความเข้มแข็งของสิ่งที่เรามีแล้วเอามาใช้ โรงงานทำเครื่องสำอางค์เค้ายังปรับตัวมาทำเจล บริษัทก่อสร้าง ออกไปทำงานไม่ได้ เค้ายังออกมาทำคอนเซ้าส์ การบินไทย บินไม่ได้ ก็ยังต้องหารายได้จากครัวการบิน โรงงาน GM ยังออกมาทำเครื่องช่วยหายใจ สำรวจตัวเองหรือยังครับ เรามีดีอะไร?
7. ลดขนาดกิจการลง ตอนนี้อะไรที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ โยกย้ายคนมาทำอย่างอื่นที่สร้างรายได้ประทังตัวได้ก่อน ปรับตัวปรับใจซึ่งกันและกัน คนไทยพร้อมจะเข้าใจครับ
8. ศึกษามาตราการความช่วยเหลือจากภาครัฐ ตอนนี้มีเยอะครับ และมีออกมาเรื่อยๆ อะไรสมัครได้ให้ทำไว้ก่อน ขอได้ขอไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็น ภาษี ดอกเบี้ย จ่ายแต่เงินต้น ลดต้น ลดดอก ลดหนี้ หยุดชำระหนี้ทำได้ทั้งนั้น แถมต่อรองได้ด้วยเกินกว่าประกาศอีกด้วย ไม่มีใครอยากโดนลูกหนี้เบี้ยวหรอกครับ ธุรกิจไม่ว่าจะหมื่นล้าน ก็มีหนี้ จะร้อยล้าน ก็มีหนี้ จะสองแสนสองหมื่น ก็มีหนี้ หันหน้าเข้าชน จุดนี้ไม่ใช่เวลาหน้าบาง เชื่อผมอีกอย่าง ไม่มีแบ๊งก์หรือไฟแนนซืที่ไหนอยากให้เราเป็น liability หรือเป็นหนี้เสีย รับรองครับ เค้าคุยและเปิดรับทุกข้อเสนอ เพราะเค้าก็รู้ว่าถ้าเค้าไม่คุย เราก็ไม่(มี)จ่าย
...
Relaxation Breathing หายใจช้าๆ ใจเย็นๆ ทำใจให้สบาย
Final Breathing เตรียมตัวกับสิ่งที่กำลังจะเกิด
เมื่อพร้อม ก็โผล่มาจากผิวน้ำ ทำ Recovery Breathing แบบมีสติ
...
ตอนนี้หนักกันทั่วหน้า จุกกันทั้งระบบ หวังว่าทุกท่านจะผ่านมันไปได้ด้วยดีครับ
รองศาสตรจารย์ ดร. กุลเดช สินธวณรงค์ ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กระทรวงการคลัง
Comments